กำหนดการเดินทาง

รถชัทเทิลบัสไถวันเห่าสิง-เส้นทางทะเลสาบสุริยันจันทรา เส้นทางเชอเฉิง รอให้คุณมาสัมผัสอยู่นะ!

ทะเลสาบสุริยันจันทรา + จี๋จี๋ + เชอเฉิง = วันหยุดแสนดีงาม!

ทะเลสาบสุริยันจันทราเส้นทาง

  • ขี่จักรยาน

    สถานที่แนะนำ:เส้นทางจักรยานเซี่ยงซัน

    เส้นทางขี่จักรยานเซี่ยงซานความยาวประมาณ 3.4 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นจะอยู่ที่สุ่ยเซ่อทะเลสาบสุริยันจันทรา และจุดสิ้นสุดของเส้นทางคือศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเซี่ยงซาน ประมาณกิโลเมตรที่ 0.4 (โค้งเป่ยตั้น) เส้นทางขี่จักรยานจะเริ่มอยู่บนผิวน้ำ จะสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนตัวของน้ำ บวกกับความงามของขุนเขาและแสงกระทบจากทะเลสาบ ถือเป็นจุดที่เยี่ยมที่สุดจุดหนึ่งในการถ่ายภาพคู่กับผิวน้ำของทะเลสาบ เส้นทางจักรยานเซี่ยงซานจะผ่านเขื่อนสุ่ยเซ่อ สะพานหย่งเจี๋ยถงซิน เวดดิ้งสแควร์ไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเซี่ยงซาน เมื่อขี่มาตามเส้นทางนี้เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถพบกับ 4 จุดท่องเที่ยวจาก “แปดจุดท่องเที่ยวขึ้นชื่อทะเลสาบสุริยันจันทรา” ตอบโจทย์การถ่ายภาพเช็คอินเป็นอย่างดี

  • กิจกรรมประสบการณ์ชาดำ

    สถานที่แนะนำ:โรงงานชารื่อเยว่ แมวลานเส้นทางภูเขา

    ทะเลสาบสุริยันจันทราเป็นแหล่งผลิตชาดำอัสสัมขึ้นชื่อของไต้หวัน ในช่วงยุคญี่ปุ่นได้นำเอาชาอัสสัมจากอินเดียเข้ามาทดลองปลูกในหมู่บ้านอวี๋ฉือ เมืองหนานโถว ผลการทดลองปลูกโดดเด่น และปลูกกันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นชาพิเศษที่มีชื่อเสียงที่สุดในทะเลสาบสุริยันจันทรา จวบจนปัจจุบัน อวี๋ฉือยังคงเป็นแหล่งหลักๆ ที่ผลิตชาดำไต้หวัน ชาดำที่ผลิตออกมาจะมีสีแดงสด รสชาติกลมกล่อม โดยเฉพาะชาท้องถิ่นที่ยอดเยี่ยมอย่างชาไต้หวันหมายเลข 18 ที่ทำให้ชาวไต้หวันและชาวต่างชาติล้วนชื่นชอบ

  • วัฒนธรรมดั้งเดิม

    สถานที่แนะนำ:อีต๋าเซ่า หมู่บ้านวัฒนธรรม 9 ชนเผ่า

    ทะเลสาบสุริยันจันทราเป็นทะเลสาบบนภูเขาที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน นอกจากนี้ยังอยู่ติดกับลำธารที่ยาวที่สุดของไต้หวันอย่างลำธารจั๋วสุ่ย สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนใครกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของชนเผ่าเซ่าและชนเผ่าปู้หนง ชนเผ่าเซ่ามีชื่อเสียงในเรื่องเสียงสากแห่งทะเลสาบ ส่วนชนเผ่าปู้หนงมีชื่อทั้งในและต่างประเทศด้านการร้องเพลงแบบเป็นวงล้อม ทั้งสองชนเผ่าได้ผสมผสานลักษณะทางวัฒนธรรมที่งดงามบริเวณทะเลสาบสุริยันจันทรา นอกจากนี้ไต้หวันยังมีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมากมายที่ดั้งเดิมมีการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และเพราะเหตุนี้เองจึงได้เกิดการพัฒนาเป็นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์หลากหลาย ซึ่งสามารถเข้าไปสำรวจได้ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมเก้าชนเผ่า

  • เที่ยวเชิงนิเวศน์และศิลปะ

    สถานที่แนะนำ:เถาหมีเคิง(โบสถ์กระดาษ)

    หมู่บ้านเชิงนิเวศน์เถาหมี่อยู่ที่เขตผูหลี่ เมืองหนานโถว ด้านในมีภูมิทัศน์หลากหลาย อย่างลำธารที่ไหลผ่าน มีทุ่งนา แอ่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำและสระนิเวศวิทยา เป็นต้น ถือเป็นสวรรค์ของสัตว์ทางนิเวศน์เช่น กบ แมลงปอ ผีเสื้อ หิ่งห้อย เป็นต้น ปัจจุบันสมาคมพัฒนาชุมชนและผู้อยู่อาศัยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ การสัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรมชนบทและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ภายใต้การนำของนักวิจารณ์มืออาชีพ พวกเขาช่วยให้ผู้เข้าชมได้ใกล้ชิด เข้าใจ ชื่นชมและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งทำให้เถาหมี่กลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งความสุขที่ยั่งยืน

  • พรทางศาสนา

    สถานที่แนะนำ:วัดเหวินอู่เมี่ยว วัดหลงฟ่งกง

    เส้นทางรอบทะเลสาบสุริยันจันทรายังมีจุดที่แสดงถึงวัฒนธรรมทางศาสนาไม่น้อย เช่น โบสถ์เยซู วัดหลงเฟิ่ง วัดเหวินอู่ วัดพระถังซัมจั๋งและวัดเสวียนกวาง เป็นต้น วัดหลงเฟิ่งมีเฒ่าจันทราที่ดึงดูดให้เหล่าหนุ่มสาวโสดมากมายเข้าไปไหว้ขอพรให้พบเนื้อคู่ที่ดี วัดเหวินอู่มีการสร้างอาคารสไตล์จีนราชวงศ์เหนือ มีขนาดมหึมา โอ่โถง งดงาม หันหน้าไปทางทะเลสาบ ด้านหลังเป็นภูเขา เมื่อขึ้นไปจุดชมวิวด้านหลังวัด จะมองเห็นทะเลสาบสุริยันจันทรา อีกทั้งยังสามารถขอโชคลาภการเงิน การเรียน ชีวิตคู่ได้สมดังใจปรารถนา

  • กิจกรรมนันทนาการทางน้ำ

    สถานที่แนะนำ:สุ่ยเซ่อ อีต๋าเซ่า

    ทะเลสาบสุริยันจันทราถือเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่สวยที่สุดของไต้หวันแห่งหนึ่ง ความพิเศษคือมีทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยเมฆ ขุนเขา ลำน้ำ ถึงแม้จะเป็นสถานที่เดียวกัน แต่หากมาต่างฤดูกาล ต่างเวลา วิวของทะเลสาบและภูเขาก็จะเปลี่ยนไป ทำให้ผู้มาชมต่างก็รู้สึกถึงความงดงามไม่สิ้นสุด หากมาทะเลสาบสุริยันจันทราในตอนนี้ ไม่เพียงแต่มีการนั่งเรือชมทะเลสาบหรือขี่จักรยานรอบทะเลสาบเท่านั้น แต่ยังมีบอร์ดยืนพายSUP เรือคายัค และเรือไฟฟ้าให้เล่นกันด้วย ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับทะเลสาบที่มากกว่า อีกทั้งในขณะที่ทำกิจกรรมบนผิวน้ำเหล่านี้ในเวลาเดียวกันยังได้ชื่นชมความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของทะเลสาบสุริยันจันทราไปด้วย

เส้นทางเชอเฉิง

  • การศึกษาเชิงสภาพแวดล้อม

    สถานที่แนะนำ:พื้นที่เกษตรเพื่อนันทนาการแอ่งมีชีวิตแห่งโถวเซ่อ& เขื่อนโถวเซ่อ

    แอ่งมีชีวิตแห่งโถวเซ่อเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของพืชน้ำและการตกตะกอนเป็นเวลาหลายพันปี เนื่องจากสารประกอบอินทรีย์ในหนองน้ำยากที่จะสลายไป จึงได้เกิดเป็นดินพรุและทับถมเรื่อยมา ในขณะที่เดินอยู่บนพื้นดินพรุแห่งนี้ จะมีความรู้สึกโยกเยกไปมา จึงได้ชื่อเรียกว่า “ไร่มัมโบ” การที่มาถึงโถวเซ่อและได้สัมผัสการเคลื่อนไหวของแอ่งมีชีวิตแห่งนี้ จะต้องเป็นประสบการณ์ที่พบได้ยากในทั้งชีวิต ในแอ่งโถวเซ่อเพียบพร้อมดินที่อุดมสมบูรณ์ แต่ขาดแคลนระบบชลประทานเพื่อการเกษตรที่ครบถ้วน จึงไม่สามารถจ่ายน้ำให้กับพื้นที่โถวเซ่อได้อย่างมั่นคงและเพียงพอ เนื่องด้วยว่าในพื้นที่โถวเซ่อไม่เคยถูกทำลายโดยกิจกรรมมนุษย์ขนาดใหญ่ จึงยังคงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์ เมื่อถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่นี่ก็จะกลายเป็นสถานที่ดีเลิศสำหรับชมหิ่งห้อย

  • การท่องเที่ยวทางรถไฟ

    สถานที่แนะนำ:ห้องเรียนทางรถไฟเชิงท่องเที่ยว & เส้นทางรถไฟจี๋จี๋

    หลังสั่งยุบโรงเรียนประถมศึกษาเชอเฉิงที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1957 แล้ว ด้วยความประสงค์ที่ต้องการปรับใช้พื้นที่อย่างเป็นประโยชน์อีกครั้ง จึงได้ดำเนินขั้นตอนตรวจสอบและส่งมอบหน้าที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2017 จนถึงเดือนกันยายน ปี 2018 จากนั้น ก็เริ่มวางแผนจัดการพื้นที่โรงเรียนอยู่ภายใต้ธีมห้องเรียนเชิงท่องเที่ยวทางรถไฟ และเปิดให้บริการในวันที่ 18 เดือนกันยายน ปี 2019 อย่างเป็นทางการ เส้นทางย่อยจี๋จี๋เป็นเส้นทางย่อยที่มีระยะทางยาวที่สุดของรถไฟไต้หวัน สาเหตุในการก่อสร้างเริ่มแรกของเส้นทางแห่งนี้ ก็เพื่อความต้องการด้านขนส่งในการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำ และเป็นทางรถไฟแห่งเดียวที่ยังให้บริการอยู่ในปัจจุบันในเทศมณฑลไถหนาน ชื่อสถานีเชอเฉิงมีความหมายเป็น “สนามรถ” ในภาษาไต้หวัน ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยก่อน เริ่มตั้งแต่ปี 1916 โรงงานน้ำตาลผู่หลี่ได้ปรับใช้รถโยกในการขนส่งน้ำตาลไปยังสถานีเชอเฉิง เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์น้ำตาลออกไป หน้าสถานีจึงมีรถโยกจอดไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานีแห่งนี้

  • วัฒนธรรมอุตสาหกรรมไม้

    สถานที่แนะนำ:สถานีเชอเฉิง & ศูนย์นิทรรศการอุตสาหกรรมไม้& สระเก็บไม้

    สถานีรถไฟเชอเฉิงก่อสร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น เป็นจุดปลายทางของเส้นทางย่อยจี๋จี๋ และเป็นเส้นทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในเส้นทางย่อยต่างๆ ของรถไฟไต้หวัน หลังได้ขึ้นรถที่สถานีเอ้อร์สุ่ย ผ่านอุโมงค์ลำดับที่ห้ามาแล้ว สิ่งที่เห็นในสายตา ก็จะเปลี่ยนจากความมืดมนในอุโมงค์ เป็นทิวทัศน์ฟ้าใสป่าเขียวที่กว้างขวาง ซึ่งมีความหมายเหมือนเข้าสู่ดินแดนดอกพีชในนิยาย จึงได้รับอีกชื่อเรียกว่า “สวนดอกไม้แห่งความลับ” ในช่วงปี 1958 บริษัทเจิ้นชางซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไม้ได้ชนะการประเมินและได้รับสัมปทานในการตัดไม้ในบริเวณป่าไม้ตันต้าที่หนานโถว และเพื่อความสะดวกในการเดินทางขนส่ง ทางบริษัทจึงได้จัดซื้อที่ดินและก่อตั้งโรงงานที่เชอเฉิง ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด ได้นำประชากรมากกว่า 2,000 คนเข้ามาประกอบอาชีพในที่นี้ ซึ่งกระทำให้ยุคแห่งความรุ่งเรืองมาถึงที่เชอเฉิงอีกครั้ง จนละแวกเชอเฉิงและสุ่ยหลี่ถูกขนานนามว่า “ไทเปจำลอง” สระเก็บไม้เป็นสระน้ำที่ใช้เก็บรักษาชิ้นไม้ในอดีต ช่วงยุค 1960-70 ในขณะที่อุตสาหกรรมไม้ของเชอเฉิงกำลังรุ่งเรือง จะมีรถเครน (ปั้นจั่น) ขนชิ้นไม้เข้ามาถึงที่และนำแช่ลงในสระ ซึ่งเป็นวิธีระบายยางไม้เพื่อยืดอายุการใช้งานของชิ้นไม้ เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ ต้นเมเปิล ต้นการบูร ต้นสนไซปรัส และต้นชงโคที่ปลูกไว้รอบสระ ก็ได้ประกอบเป็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่เสมือนอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

TOP